การช่วยฟื้นคืนชีพ

หฤทัย พุทธิเสาวภาคย์

เบญจมาศ ทำเจริญตระกูล

ความหมายเป็นการปฏิบัติการช่วยชีวิตเมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ และหัวใจหยุดทำงาน เพื่อให้ปอดได้รับออกซิเจนและหัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ โดยเชื่อว่าถ้าหัวใจหยุดเต้นนานเกิน 4 นาที จะทำให้สมองและอวัยวะสำคัญของร่างกายตายหรือถูกทำลาย

วัตถุประสงค์ของการช่วยฟื้นคืนชีพ

1.เพิ่มออกซิเจนให้แก่เนื้อเยื่อ และร่างกาย

2.ป้องกันสมองตาย โดยการทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ

ขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพ

เมื่อพบคุณตา คุณยาย หมดสติ หรือไม่มีการเคลื่อนไหวต้องสำรวจขั้นพื้นฐานโดย

1.ตรวจดูว่าหมดสติจริงหรือไม่ โดยเขย่าตัวแรง ๆ พอที่จะปลุกคนหลับให้ตื่น ซึ่งอาจจะพูดว่า “ ตื่น ตื่น เป็นอะไรหรือเปล่า “

2.เรียกขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ถ้าไม่มีปฏิกริยาตอบสนองใดๆ เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะต้องให้ความช่วยเหลือ เพราะในการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นในระยะเวลาอันสั้น ควรมีคนช่วยมากกว่า 1 คน เพื่อจะได้ช่วยติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือต่อไป เช่น พูดว่า “ ช่วยด้วย …. หมดสติ “

3.จัดท่าผู้ป่วย จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบบนพื้นแข็ง ตะแคงหน้าด้านใดด้านหนึ่ง หากมีสิ่งแปลกปลอมภายในปากต้องเอาออก และเพื่อป้องกันลิ้นตกปิดทางเดินหายใจ ต้องจัดท่า โดย ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางยกคางขึ้น และใช้มืออีกข้างกดหน้าผากลง กรณีที่สงสัยว่ากระดูกคอหัก ควรใช้มือทั้งสองข้างดึงขากรรไกรไปด้านบน โดยผู้ช่วยเหลือยืนเหนือศีรษะดังภาพอาจใช้ผ้าหรือหมอนเล็กๆ รองใต้ไหล่ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น

4.ประเมินการหายใจ ตรวจดูว่าหายใจหรือไม่ โดยเอียงหูให้ใกล้กับปากและจมูกของผู้ป่วย แก้มจะสัมผัสกับลมหายใจตามองที่หน้าอกว่าขยับขึ้นหรือลงหรือไม่ (ควรใช้เวลาไม่เกิน 3 – 5 วินาที ) ถ้าไม่หายใจให้กดหน้าผากไว้เลื่อนนิ้วมาบีบจมูก ผู้ช่วยเหลือสูดลมหายใจเข้าเต็มที่ อ้าปากกว้าง ประกบปากผู้ป่วยให้สนิท เป่าลมเข้าปากผู้ป่วย 2 ครั้ง ตามองที่หน้าอกผู้ป่วย ว่าขยับขึ้น-ลงตามการเป่าลมหรือไม่ ใช้เวลาในการประกบปาก 1.5 – 2 วินาที เป่าปาก ประมาณ9 ครั้ง และตรวจดูชีพจร ถ้าชีพจรยังคงมีอยู่แต่ยังไม่หายใจให้ช่วยต่อ 1 ครั้งทุก 6 วินาที หรือประมาณการหายใจ 10 ครั้ง / นาที และตรวจชีพจรทุกนาที การตรวจดูว่าชีพจรมีหรือไม่ ให้ใช้มือข้างหนึ่งกดหน้าผากไว้ ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางของมืออีกข้างลูบเบาๆที่ลูกกระเดือกแล้วลากมาด้านข้างจะพบร่อง ( ข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ ) เพื่อคลำชีพจรที่หลอดเลือดแดง คาโรติด ใช้เวลาคลำไม่เกิน 5 – 10 วินาที

5.ถ้าคลำแล้วไม่พบชีพจร ให้ช่วยนวดหัวใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนเลือด โดยหาตำแหน่งในการวางมือดังนี้

5.1ใช้นิ้วกลางและนิ้วชี้คลำชายโครงด้านใดด้านหนึ่งแล้วลากขึ้นมาบริเวณลิ้นปี่ จนถึงชายโครงที่ติดกับกระดูกหน้าอก ใช้นิ้วกลางหรือนิ้วชี้คลำที่ปุ่มปลายกระดูกลิ้นปี่ และวัดขึ้นมา 2 นิ้ว

5.2วางส้นมือถัดจากนิ้วมือที่วัด(ใช้มือข้างที่ถนัดวางอยู่ด้านบน)

5.3วางอีกมือหนึ่งทับลงไป ระวังอย่าให้นิ้วมือแตะซี่โครง อาจใช้นิ้วมือประสานกัน

5.4 เมื่อได้ถูกต้องตามตำแหน่งแล้ว ให้ทำการนวดหัวใจ โดยโน้มตัวไปข้างหน้าไหล่ของผู้นวดอยู่ในแนวเหนือกระดูกหน้าอกพอดี แขนทั้ง2ข้างเหยียดตรง ส้นมือต้องวางอยู่บนกระดูกหน้า ออกแรงกดหน้าอกด้วยน้ำหนักแรงพอ กระดูกหน้าอกจะยุบลงประมาณ 1.5 – 2 นิ้วอก ให้นวดอย่างสม่ำเสมอและนุ่มนวลไม่ชะงักหรือกระตุก เวลาที่กดลงจะเท่ากับเวลาที่ปล่อย ไม่ควรกระแทกเพราะอาจทำให้ซี่โครงหักได้ ในขณะกดแต่ละครั้งให้นับ หนึ่งและ….สองและ ….สาม…. นับไปจนกระทั้งถึง 15 ให้สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง

หลักที่ควรคำนึง

1.ไม่ควรหยุดผายปอดหรือช่วยหายใจเมื่ออาการยังไม่ดีขึ้น

2.ควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดแม้หายใจเป็นปกติแล้ว อาจหยุดหายใจได้อีก

3.อาการไม่ดีขึ้นควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

5.4 เมื่อนวดหัวใจและเป่าปากได้ครบ4 รอบและครั้งสุดท้ายเป่าปาก 2 ครั้ง ให้คลำชีพจรที่คอ กดหน้าผากให้แหงนหน้าฟังเสียงหายใจตามองที่อก ถ้าไม่มีชีพจรและไม่หายใจ ให้เป่าปาก 2 ครั้ง และนวดหัวใจ 15 ครั้งต่อไป และจับชีพจรอีกเมื่อครบ 4 รอบ ทำอย่างนี้เรื่อยๆจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจเองได้ ถ้ามีชีพจรแต่ไม่หายใจให้ทำการช่วยโดยการเป่าปากดังที่ได้กล่าวมา

กรณีมีผู้ช่วย 2 คน ทำขั้นตอนเช่นเดียวกับช่วย 1 คนทุกประการ แต่ ให้ทำการนวดหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 1 ครั้ง