การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ
ภิรมย์ลักษณ์ มีสัตยานันท์

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย การทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งอายุ 30 ปีขึ้นไป พบว่า การทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆเริ่มลดน้อยลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อต่างๆ ในแต่ละบุคคล เมื่อบุคคลเข้าสูวัยสูงอายุ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายซึ่งเกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทุกระบบ ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

1. ผิวหนัง ผิวหนังขาดการตึงตัว ไขมันใต้ผิวหนังลดลง ที่บริเวณใบหน้าและหลังมือ แต่เพิ่มขึ้นบริเวณหน้าท้องและต้นขา บริเวณที่ไขมันลดลงนี้ จะทำให้ผิวหนังได้รับอันตรายได้ง่าย รวมทั้งการกดทับ เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังจะหนา การซึมผ่านของออกซิเจน และอาหารเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อต่ำ ความแข็งแรงของผิวหนังลดลง แตกง่าย เหี่ยวย่น ต่อมเหงื่อเหี่ยวแฟบ ขับเหงื่อได้น้อย ทำให้ผิวหนังแห้ง กระด้าง บางครั้งเป็นสาเหตุทำให้เกิดผื่นคัน ต่อมเหงื่อทำงานลดลง ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่ได้ดี เกิดความร้อน – หนาวไม่คงที่
2. ปากและฟัน ผู้สูงอายุโดยทั่วไปมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร กล่าวคือ ฟันจะหลุด และต้องใช้ฟันปลอม กล้ามเนื้อในการเคี้ยวมีแรงน้อยลง ตลอดจนกล้ามเนื้อในการกลืนก็เปลี่ยนแปลงด้วย ;การรับรสทางลิ้นเสียไปประมาณ 10 – 30 % เนื่องจากต่อมรับรส มีจำนวนลดลง ประมาณ 2/3 ต่อมรับรสจะตายเมื่ออายุ 70 ปี และส่วนที่เหลือจะฝ่อลีบลง ทำหน้าที่ได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกอร่อยในรสอาหารเท่าที่ควร อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า ลิ้นจืด การรับรสหวานจะสูญเสียก่อนรสเปรี้ยว เค็ม ขม จึงเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารรสหวานมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกน้อย ทำให้ปากแห้ง
3. ตา เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาเสื่อมความสามารถในการปรับระยะภาพสายตาจะยาว เนื่องจากความยืดหยุ่นของเลนส์ลดลง การปรับกำลังขยายเพื่อดูของใกล้เป็นไปได้ไม่ดี โดยจะพบเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป วงแหวนขุ่นขาวรอบตาดำ เนื่องจากมีไขมันมาเกาะจับเนื้อเยื่อโดยรอบ ความดันในลูกตาสูง มีโอกาสเกิด ต้อหิน (Glaucoma) ได้ง่ายการผลิตน้ำตาลดลง ทำให้ตาแห้งและเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาได้ง่าย บางรายอาจพบมีน้ำตามากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำตา โดยทั่วไปผู้สูงอายุสามารถแยกสีแดง ส้ม และเหลืองได้ดีกว่า สีน้ำเงิน ม่วงและเขียว การเลือกใช้สีที่เห็นได้ชัดเจนตกแต่งบ้านจะช่วยลดอันตราย เนื่องจากอุบัติเหตุภายในบ้านได้
4. หู การสูญเสียความสามารถของการได้ยินพบได้ในผู้สูงอายุ อาจกล่าวได้ว่าประมาณ 1/4 ของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีอาการหูตึง และมักจะได้ยินเสียงต่ำๆ ได้ชัดกว่าเสียงพูดธรรมดา หรือเสียง การผลิตขี้หูลดลง แต่มีการสะสมของขี้หูในช่องหูมากขึ้น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในเกิดภาวะแข็งตัว ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ผู้สูงอายุจึงมักมีอาการวิงเวียนศีรษะ เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
5.ผมและขนอัตราการงอกของผมลดลงในผู้สูงอายุ และเส้นผมมีขนาดเล็กลงด้วย ในหญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีขนที่บริเวณริมฝีปาก และคางเพิ่มขึ้น ส่วนเส้นผมบริเวณศรีษะลดน้อยลง รวมทั้งขนรักแร้ และบริเวณหัวเหน่าสำหรับผู้ชายนั้นผมบนศรีษะ และเคราลดน้อยลง แต่มีขนเพิ่มขึ้นที่บริเวณหู คิ้ว และรูจมูก
6.หัวใจและหลอดเลือด ;พบว่าเป็นโรคของหัวใจและหลอดเลือดได้บ่อย เนื่องจากความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ทำให้มีผลต่อการหดและคลายตัวของหัวใจ พบว่าหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นลดลง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเพิ่มขึ้น และต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตขึ้นเล็กน้อย ปกติความดันโลหิต ทั้งตัวบน (Systolic) และตัวล่าง (Diastolic) จะสูงขึ้นตามอายุ จนอายุ 60 ปี ความดันตัวล่างจะลดลงหรือคงที่ แต่ความดันตัวบนเพิ่มขึ้น
7. ระบบหายใจ เมื่ออายุมากขึ้นจะพบว่าถุงลมโป่งพอง หลอดลมแข็งขาดความยืดหยุ่น ทำให้หายใจหอบเหนื่อยได้ง่าย

8. ระบบทางเดินอาหารกระเพาะอาหาร พบว่าการหลั่งกรดของ กระเพาะอาหารลดลงประมาณ 20% ภายหลังอายุ 50 ปี ผู้ชายลดมากกว่าผู้หญิง ทำให้เบื่ออาหาร ท้องอืดง่าย ตับมีความสามารถในการทำลายพิษลดลง จึงเกิดพิษของยาได้ง่ายในผู้สูงอายุ ปริมาณน้ำดีลดลง รวมทั้งมีความหนืดเพิ่มขึ้นตามอายุ มีผลทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่าย ตับอ่อนทำหน้าที่เสื่อมลง ผลิตอินซูลินได้น้อย และ ที่ผลิตมานั้น มีประสิทธิภาพในการนำน้ำตาลเข้าสู่เนื้อเยื่อต่ำ ทำให้น้ำตาลที่เหลือถูกสะสมเป็นไขมันส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะคงอยู่ในกระแสเลือด และมีบางส่วนเท่านั้นที่ถูกขับออก ผู้สูงอายุจึงเป็นเบาหวานอย่างอ่อนได้ หรือมีแนวโน้ม ที่จะเป็นเบาหวานได้ง่ายกว่าวัยหนุ่ม – สาว
9. ระบบขับถ่ายปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะมีความจุลดลงประมาณ 50% หรือประมาณ 250 ซีซี. ของวัยหนุ่ม – สาว ในผู้ชายอาจมีปัสสาวะขัด เนื่องจากต่อมลูกหมากโต ผู้หญิงกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน โดยเฉพาะในหญิงที่คลอดบุตรมาแล้วหลายคน
10. ระบบกระดูกและข้อ กระดูกของผู้สูงอายุจึงเปราะและหักง่าย แม้ว่าจะไม่ได้รับอุบัติเหตุ แคลเซี่ยมที่สลายออกจากกระดูกจะไปเกาะบริเวณกระดูกอ่อน เช่น ชายโครง ทำให้การเคลื่อนไหวของทรวงอกลดลง ความยาวของกระดูกสันหลังลดลง และหมอนรองกระดูกบางลง กระดูกสันหลังผุมากขึ้น หลังค่อม หลังค่อมเอียงมากขึ้น ความสูงลดลง 2 นิ้วจากอายุ 20 – 70 ปี (1.2 ซม. ทุก 20 ปี) ความยาวของกระดูกยาวคงที่ แต่ภายในจะกลวงมากขึ้น

11. ระบบประสาท การเรียนรู้และความจำ ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป โดยความจำประกอบด้วย
*ความจำในอดีต (Remote memory) คือความจำเรื่อราวในอดีตที่ผ่านมา
*ความจำในเรื่องปัจจุบัน (Recent memory) เป็นความจำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราว ประสบการณ์ หรือข้อมูลที่ได้รับในรอบ 24 ชม.
*ความจำเฉพาะหน้า (Immediate memory) เป็นการจดจำเรื่องที่เกิดขึ้นในทันที ชั่วระยะเวลาอันสั้น (ตัวเลข 5 – 7 หลัก)

ผู้สูงอายุจะมีปัญหาความจำในลักษณะที่ 3 มาก ประเภทได้หน้าลืมหลัง ปกติคนเราจะจำดีมาก เมื่ออายุ 5 – 25 ปี แต่พออายุมากขึ้นความสามารถในการจำลดลง (ยกเว้นเรื่องในอดีต) ผู้สูงอายุจึงมักชอบเล่าเรื่องในอดีตที่ยังจดจำได้ดี และชัดเจนกว่าเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วผู้สูงอายุอาจจะจำเรื่องปัจจุบันได้ดีเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลาในการคิดและจดจำนานกว่า

12. ระบบสืบพันธุ์ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ดังนี้
หญิง : น้ำหล่อลื่นช่องคลอดลดลง ทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อได้ง่าย
ชาย : ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กน้อย

ความสามารถในการสืบพันธุ์ พบว่าเพศหญิงจะหมดความสามารถในการสืบพันธุ์ทันที่ที่หมดประจำเดือน แต่ความสามารถทางเพศจะยังคงอยู่ ส่วนในเพศชาย ความสามารถในการสืบพันธุ์มีได้ตลอดอายุขัย
ความสามารถทางเพศมีได้ทั้งชาย – หญิง แต่ความรู้สึกทางเพศอาจแตกต่างจากวัยอื่นหรือคนอื่นๆ มีสาเหตุจาก

(1) กลัว ไม่ประสบความสำเร็จ / กลัวตาย ไม่มั่นใจ

(2) วัฒนธรรม ค่านิยม

(3) ความเสื่อมของสุขภาพ

j *j *j *j *j *j *j *j

บรรณานุกรม

ชูศักดิ์ เวชแพศย์. สรีรวิทยาของผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ : ศุภวนิชการพิมพ์ , 2538.

สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล. หลักสำคัญของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย , 2542.

สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการส่งเสริมสุขภาพที่พึง

ประสงค์ในผู้สูงอายุ สำหรับบุคลากรสาธารณสุข. นนทบุรี : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด , 2544.